บรรเทาอาการปวดหัวไมเกรน แบบฉบับการรักษาด้วยตัวเอง

อาการปวดศีรษะตุ๊บ ๆ เกิดขึ้นข้างใดข้างหนึ่งของศีรษะ วันละหลายเวลา บางคนก็ปวดข้างเดียวก่อนแล้วจึงลามไปทั้ง 2 ข้าง และส่วนมากจะเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายเดือน นอกจากนี้ยังมีอาการคลื่นไส้อาเจียน รวมถึงแพ้แสงแดด ร่วมกับอาการปวดหัวด้วย
โรคไมเกรนมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย อัตราส่วนประมาณ 3:1 โดยส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากความเครียด จะมีอาการปวดศีรษะข้างเดียวต่อเนื่อง นอกจากนี้แล้วยังจะมีอาการเจ็บบริเวณคอและหลังส่วนบนร่วมด้วย บางรายจะมีอาการหน้ามืดตาลาย เวียนศีรษะบ้านหมุน
สัญญาณเตือนไมเกรน
ในบางรายจะมีสัญญาณเตือนโรคไมเกรนล่วงหน้า ลองสังเกตว่ามีอาการตามนี้มากน้อยแค่ไหน หากครบทุกข้อแล้วล่ะก็ คุณอาจจะต้องรีบดูแลตัวเองแต่เนิ่น ๆ แล้วล่ะ
- มีอาการเห็นแสงสว่างวาบๆ หรือเห็นเป็นคลื่น
- มีอาการเจ็บแปลบบริเวณศรีษะ
- ตาพร่า
- เวียนศีรษะหรือมีเสียงก้องในหู
- เหงื่อออกหรือหนาว โดยอยู่ในอุณหภูมิปกติ
- อ่อนเพลียบ่อยทั้งที่พักผ่อนอย่างเพียงพอแล้ว
- เห็นแสงจ้าวูบวาบแล้วจะมีอาการไม่ดี เช่นแสงสว่างขณะขับรถผ่านใต้ต้นไม้ ที่มีลักษณะสว่างสลับมืดต่อเนื่องกัน
- มีอาการปวดศีรษะระหว่างตั้งครรภ์บ่อยๆ
หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ที่ทำให้ไมเกรนกำเริบ
ผู้ป่วยที่เป็นไมเกรนแต่ละคน จะตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆที่แตกต่างกันไป คนที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนบ่อยๆ ลองสังเกตตัวเองและจดบันทึกเก็บไว้ ว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้ไมเกรนกำเริบได้ และพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งเร้านั้น ๆ โดยตัวกระตุ้นที่พบได้บ่อย ได้แก่
- มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
- ความเครียดสะสมเป็นเวลานาน
- ระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง เช่น ผู้หญิงช่วงใกล้มีประจำเดือน หมดประจำเดือน ตั้งครรภ์ รับประทานยาคุมกำเนิด
- เจอแสงส่องจ้า แดดแรง
- อยู่ในที่ที่มีกลิ่นฉุน ๆ รุนแรง บางคนอาจจะแพ้กลิ่นปลาเค็มทอด กลิ่นกะปิ ได้กลิ่นแล้วทำให้ไมเกรนกำเริบก็มีเช่นเดียวกัน
- กลิ่นควันไฟ กลิ่นควันบุหรี่
- อดนอน สามารถทำให้อาการไมเกรนกำเริบได้ง่าย
- อากาศหรืออุณหภูมิเปลี่ยนแปลงกระทันหัน
- ยาบางชนิด อาจทำให้อาการไมเกรนกำเริบได้
- ผู้ป่วยไมเกรน ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ อาจจะมีอาการไมเกรนกำเริบ เวลาที่ไม่ได้ดื่มกาแฟ
- อาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิด ที่พบได้บ่อย ได้แก่ เนย หอมหัวใหญ่ ถั่วประเภทต่างๆ เนื้อย่าง ของหมักดอง ไวน์ เบียร์ ครีม ยีสต์ ขนมปัง ไส้กรอก แฮม กล้วย ผงชูรส น้ำปลา
8 วิธี รักษาและบรรเทาอาการปวดหัวไมเกรน
ไมเกรน เป็นโรคที่ส่วนใหญ่เมื่อเป็นแล้ว ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่พอที่จะมีวิธีการให้อาการไมเกรนกำเริบน้อยครั้งที่สุด หรือนาน ๆ จะเป็นสักทีได้อยู่ ก็คือพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรนขึ้น โดยเรามีเคล็ดลับที่จะห่างไกลจากไมเกรนมาฝากคุณผู้อ่านดังนี้
1. เขียนไดอารี่ หรือสำรวจตนเองในแต่ละวัน
อย่างที่ทราบกันแล้วว่า อาการปวดหัวไมเกรนของแต่ละคน อาจจะเกิดจากสิ่งกระตุ้นที่แตกต่างกันไป คนที่จะรับมือกับโรคไมเกรนได้ดีที่สุด คือคนที่รู้ว่า “อะไรคือตัวกระตุ้นไมเกรน” นั่นเอง ดังนั้นแล้ว ในระยะแรก ให้ลองเขียนไดอารี่ในแต่ละวัน หรือสำรวจตัวเองว่า วันนี้ทำอะไรบ้าง มีความเครียดไหม ไปเผชิญฝุ่น หรือควันบุรี่ที่ไหนมาหรือเปล่า รวมถึงอาหารที่รับประทานในแต่ละวัน เพราะบางครั้งคุณอาจจะแพ้ส่วนผสมบางอย่างในอาหารก็เป็นไปได้ แล้วจดเป็นข้อ ๆ ในแต่ละวันเอาไว้ ในเวลาไม่นานคุณก็จะทราบได้ชัดเจนว่า สิ่งไหนที่ทำให้เกิดอาการไมเกรนสำหรับคุณ และพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเหล่านั้น
2. น้ำข้าวกล้องงอก และจมูกข้าวสาลี ช่วยได้
น้ำข้าวกล้องงอก มีกาบา และแมกนีเซียมสูง โดยแมกนีเซียม ถือว่าเป็นสารที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยไมเกรนเป็นอย่างมาก มีการศึกษาที่ให้ผลตรงกันว่า แมกนีเซียมมีผลช่วยป้องกันอาการโรคไมเกรนได้จริง โดยอย่างน้อยควรรับประทานวันละ 6 มิลลิกรัม xน้ำหนักตัว (Kg.)
3. ผักใบเขียว เน้นไปที่แมกนีเซียม
นอกจากในน้ำข้าวกล้องงอกแล้ว แมกนีเซียมมีอยู่ในผักใบเขียวเกือบทุกชนิด เช่น คะน้า ผักโขม ปวยเล้ง บรอกโคลี สำหรับคนที่ไม่ชอบเคี้ยวผัก อาจจะใช้วิธีปั่นรวมกันกับน้ำผึ้ง น้ำมะนาว และผลไม้รสเปรี้ยว ก็จะช่วยให้รับประทานได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้แล้ว แมกนีเซียมยังมีอยู่ในอาหารบางชนิด เช่น ปลาทู อัลมอนด์ เมล็ดฟักทอง งาดำ งาขาว
4. วิตามินบี
วิตามินบีที่มีส่วนช่วยบรรเทาป้องกันอาการไมเกรน ได้แก่ บี2, บี3, บี5 และบี6 โดยจะมีมากในอาหารประเภทธัญพืชไม่ขัดสี ข้าวกล้อง ถั่วเหลือง ข้าวโอ๊ต ปลา มันฝรั่ง ลูกพรุน อะโวคาโด ผักใบเขีว เนื้อสัตว์ ตับ ฯ
5. โคเอนไซม์คิวเทน (CoQ10)
มีงานวิจัยเกี่ยวกับการรับประทานอาหารเสริมโคคิวเทน จำนวน 150 mg ต่อวัน พบว่า สามารถช่วยลดความถี่ของอาการไมเกรนได้ดี มีอยู่ในอาหารหลายชนิดเช่น ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล เนื้อสัตว์ ถั่วเปลือกแข็ง น้ำมันพืช โดยปัจจุบันมีอาหารเสริมขายเป็นแบบเม็ดรับประทาน ในช่วงที่อาการไมเกรนกำเริบ การรับประทานโคเอนไซม์คิวเทน จะช่วยลดความถี่ในการเกิดอาการได้ดีขึ้น
6. การทำสมาธิและการผ่อนคลาย
สมาธิบำบัด เป็นการฝึกให้ใจนิ่ง เป็นยารักษาโรคที่เกิดจากความเครียดอย่างไมเกรนได้เป็นอย่างดี การทำสมาธิสามารถฝึกได้หลายวิธีตามหลักพุทธศาสนา เช่นการนั่งภาวนา ระลึกถึงปัจจุบัน การเดินจงกรม รวมไปถึงการฝึกสมาธิในศาสตร์อื่น ๆ เช่น โยคะ ที่มีการกำหนดรู้ถึงลมหายใจอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้แล้วข้อดีของการฝึกสมาธิ คือเมื่อเราสูดหายใจเข้าลึก ๆ และค่อย ๆ ผ่อนออก จะเป็นการช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
7. การฝังเข็ม ช่วยบรรเทาอาการไมเกรน
การแพทย์แผนจีนอย่าง ฝังเข็ม ก็มีส่วนในการช่วยลดความถี่ของการเกิดอาการได้เป็นอย่างดี โดยในครั้งแรก ๆ อาจจะยังไม่เห็นผลอย่างชัดเจน ต้องฝังเข็มต่อเนื่องไปประมาณ 6-10 ครั้ง ความถี่ของการเกิดไมเกรนจึงจะเกิดห่างขึ้น ทั้งนี้ควรมีการปรับพฤติกรรมร่วมด้วย จะช่วยให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น
8. การออกกำลังกาย
การออกกำลังกาย สามารถช่วยเยียวยาร่างกายได้หลายโรค เรียกได้ว่าเป็น “ยาสารพัดประโยชน์ราคาถูก” อย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้ สำหรับคนที่เป็นโรคไมเกรน หลายคนจะมีอาการปวดหัวหนักขึ้นเมื่อออกกำลังกาย ทำให้หลายคนคิดไปว่า การออกกำลังกายทำให้ไมเกรนกำเริบ แต่แท้จริงแล้ว การออกกำลังกายในระดับที่พอเหมาะ จะช่วยลดความถี่ในการเกิดโรคไมเกรนได้ และยังช่วยลดความรุนแรงของอาการปวดหัวได้อีกด้วย
ข้อควรระวังสำหรับผู้ที่เป็นไมเกรน ก่อนออกกำลังกายควรมีการวอร์มอัพก่อน และควรเริ่มออกกำลังกายจากเบา ค่อย ๆ ไปหาหนัก ไม่ควรหักโหมตั้งแต่เริ่มต้น โดยกีฬาที่แนะนำก็ได้แก่ การเดินเร็ว วิ่งเหยาะ ว่ายน้ำ เต้น ขี่จักรยาน หลังจากออกกำลังกายประมาณ 6-8 สัปดาห์ อาการไมเกรนก็จะค่อยบรรเทาลง