7 เคล็ดลับ สร้างแรงจูงใจให้ออกกำลังกาย

เมื่อพูดถึงเรื่องการออกกำลังกาย ทุกคนย่อมทราบกันดี ว่าเป็นสิ่งจำเป็น และช่วยให้ร่างกายมีความแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ช่วยควบคุมน้ำหนักและลดความอ้วน แต่หลายครั้งที่เริ่มออกกำลังกายไปได้ไม่กี่วัน ก็มีอันต้องเสียแรงจูงใจล้มเลิกไปเสียก่อน
คงต้องยอมรับว่า การออกกำลังกายนั้น สิ่งที่สำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ก็คือ “แรงจูงใจ” เพราะหากมีแรงจูงใจ มีเป้าหมายที่ฝันแล้ว การออกกำลังกายก็จะสามารถทำได้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่กำลังลดน้ำหนัก ที่จะต้องออกกำลังกายต่อเนื่องอย่างน้อย 3-6 เดือนขึ้นไป จึงจะค่อย ๆ เห็นผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
วันนี้เราก็มีเคล็ดลับในการสร้างแรงจูงใจให้ออกกำลังกาย มาฝากคุณผู้อ่านกันเช่นเคย ใครกำลังจะเริ่มต้นออกกำลังกาย หรือกำลังท้อถอยจะล้มเลิก ก็อย่าลืมลองนำเคล็ดลับเหล่านี้ไปปรับใช้กันดูนะคะ เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้อ่านได้เป็นอย่างดี แน่นอน!!
1. บอกเป้าหมายให้คนรอบตัวรู้
วิธีนี้ออกแนวจะเป็นวิธีที่ฮาร์ดคอร์ไปสักหน่อย การบอกเป้าหมายให้คนรอบตัวรู้ บอกให้เค้าถามคุณเสมอว่ายังออกกำลังกายอยู่หรือเปล่า การออกกำลังกายช่วงนี้เป็นยังไงบ้าง? จะเหมือนกับคุณกำลังถูกจับตามองอยู่เสมอ ไม่มีใครที่อยากจะเป็นคนที่ถูกเรียกว่า “เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ” อย่างแน่นอน ดังนั้นการประกาศก้องให้คนรอบข้างรู้ จะช่วยให้คุณมีแรงจูงใจในการออกกำลังกายได้อย่างต่อเนื่อง
2. หาไอดอลสักคน
ทุกวันนี้ในอินเตอร์เน็ท มีเรื่องราวดี ๆ มากมาย ที่จะช่วยเป็นแรงผลักดันให้คุณลุกขึ้นมาออกกำลังกาย อย่างเช่นในช่วงที่มีตูน ได้ออกมาวิ่งจากใต้สุดไปจนถึงเหนือสุดนั้น ก็มีคนป่วย คนอ้วน เป็นจำนวนไม่น้อย ที่ลุกขึ้นมาออกกำลังกาย ทำให้สามารถลดน้ำหนัก ลดอาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ลงได้
อย่างเช่น คุณแซม วิ่งสู้มะเร็ง ที่โด่งดังจากการเปลี่ยนชีวิตที่เคยนอนติดเตียง หันมาออกกำลังกายอย่างหนัก จนสุขภาพดีขึ้น แม้จะต้องกลับมาเป็นมะเร็งอีกครั้ง แต่ด้วยร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง ก็ส่งต่อแรงบันดาลใจดี ๆ ให้กับ คุณแอ้ม ผู้ป่วยมะเร็งโพรงจมูก ที่ออกมาวิ่งหลังจากได้รู้จักกับคุณแซม ทำให้สุขภาพแข็งแรงเปลี่ยนไปราวกับคนละคน
เพียงแค่ลองคิดอย่างง่ายๆว่า “ขนาดเค้าป่วยขนาดนี้ ยังสามารถกลับมาวิ่งได้ แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้” เพียงแค่นี้ ก็จะทำให้คุณมีแรงจูงใจในการออกกำลังกายมากขึ้นอย่างแน่นอน
3. เข้าคอร์ส หรือจ้างเทรนเนอร์ส่วนตัว
ถึงจะบอกว่า “การออกกำลังกาย ไม่จำเป็นต้องเสียเงิน” แต่เชื่อไหมคะว่า.. หลายคนสามารถออกกำลังกายได้ต่อเนื่องนานมากขึ้น เพราะ “กลัวจะเสียเงินฟรี” ประมาณว่า อุตส่าห์เสียเงินแล้ว ก็ต้องไปเรียนให้คุ้มซะหน่อย นอกจากในเรื่องของกลัวเสียเงินเข้าคอร์สออกกำลังกายต่าง ๆ หรือจ้างเทรนเนอร์ส่วนตัวไปฟรีๆ แล้ว การมีเทรนเนอร์ หรือครู ยังจะช่วยให้คำแนะนำในการออกกำลังกายที่ถูกต้องให้กับคุณ มีการกำหนดเป้าหมายที่ไม่ยากและไม่ง่ายจนเกินไป ทำให้มีกำลังใจที่จะฝึกต่อไป
ในกรณีของโยคะ การเริ่มต้นโดยมีครูที่มีประสบการณ์ จะช่วยทำให้การออกท่าทางเป็นไปอย่างถูกต้อง ความเสี่ยงของการบาดเจ็บน้อย และการเห็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนมีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นแรงจูงใจให้เราออกกำลังกายต่อไปได้ด้วย
4. หาเพื่อนออกกำลังกาย
การมีเพื่อนร่วมออกกำลังกายด้วยกันย่อมดีกว่า ทำให้สนุกขึ้น อีกทั้งยังเป็นแรงจูงใจให้กัน พากันไปออกกำลังกาย สามารถเล่นกีฬาได้หลากหลายประเภท ทั้งเดินเร็ว วิ่ง ขี่จักรยาน ตีแบด เต้นรำ โยคะ ฯ หากคุณมีแฟน แนะนำว่าให้ช่วยเป็นแรงกระตุ้นซึ่งกันและกัน ในการลุกขึ้นมาออกกำลังกาย บางวันที่เรากำลังหาข้ออ้างขี้เกียจไปออกกำลังกาย ก็ให้คุณแฟนเป็นคนลากเราไป ซึ่งเป็นแรงจูงใจที่ดี ทำให้ออกกำลังกายได้นานขึ้นด้วย
5. ไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายนานเกินไป
ในวันแรกๆของการเริ่มออกกำลังกาย คนส่วนใหญ่จะมีความฟิตและพลังใจมาอย่างเต็มที่ ทำให้ในช่วงอาทิตย์แรก มักจะออกกำลังกายมากเกินไป จนหมดแรง ร่างกายเจ็บปวดระบม ฟื้นตัวไม่ทัน ทำให้มีโอกาสจะหยุดเอาดื้อๆ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือกำหนดเวลาให้ชัดเจน หากจะออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ วันละ 20-30 นาที สัปดาห์ละ 4-5 วัน ก็เพียงพอแล้ว ซึ่งการตั้งเป้าหมายที่ไม่ยากและไม่ง่ายจนเกินไปนี้ จะทำให้คนเราสามารถออกกำลังกายได้ยาวนานมากขึ้น
6. เลือกประเภทการออกกำลังกายให้เหมาะสม
แต่ละคนมีความชอบ และสภาพร่างกายที่แตกต่างกันไป บางคนชอบเห็น ชอบพูดคุยกับผู้คน ไม่ชอบทำอะไรคนเดียว ดังนั้นการออกกำลังกายที่เหมาะสม ก็ควรจะมีเพื่อนคุย เพื่อนออกกำลังไปด้วยกัน เช่น การปั่นจักรยาน การตีแบด การเล่นฟุตบอล การวิ่ง ฯ แต่บางคน ก็ไม่ชอบความพลุกพล่าน อยากออกกำลังกายเงียบ ๆ ก็จะเหมาะกับกีฬาที่สามารถเล่นคนเดียวได้ เช่น เดิน วิ่ง รวมถึงการเล่นเวทเทรนนิ่งที่บ้าน โดยมีเพียงดับเบล บาร์เบล ก็สามารถเริ่มออกกำลังกายได้
สำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องข้อเข่า ข้อแขน หรือคนที่มีน้ำหนักตัวมาก ก็ควรเลือกกีฬาที่ไม่กระเทือนต่อข้อเข่า ข้อต่อ มากเกินไป เช่น ว่ายน้ำ โยคะ แกว่งแขน เดินเร็ว ฯ ซึ่งจะลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บลง และจะทำให้ออกกำลังกายได้นานขึ้น เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องการบาดเจ็บนั่นเอง
7. ไม่ต้องชั่งน้ำหนักบ่อยขนาดน้าน!!
การชั่งน้ำหนักตัวทุกเช้า มีข้อดีที่ทำให้เรารับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลง เป็นเครื่องเตือนตัวเองได้ดีว่า ตอนนี้เราอ้วนเกินไปแล้วนะ ต้องควบคุมอาหารหน่อยแล้ว แต่สำหรับคนที่กำลังออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนักอยู่นั้น การชั่งน้ำหนักบ่อย ๆ อาจส่งผลเสียต่อจิตใจ เพราะโดยปกติแล้ว น้ำหนักจะลดลงประมาณ 1 กิโลกรัม เมื่อออกกำลังกายได้ประมาณ 6000 แคลอรี่ แต่ในความเป็นจริง การออกกำลังกาย จะทำให้ระบบเผาผลาญดีขึ้น เจริญอาหารมากขึ้น ก็จะทำให้ทานมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือนขึ้นไป ร่างกายจึงจะเห็นผลความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนขึ้น ดังนั้นอย่าเพิ่งรีบคาดหวังว่าน้ำหนักจะต้องลดโดยเร็ว แค่เพียงเชื่อมั่นว่า ถ้าออกกำลังกายไปเรื่อย ๆ ร่างกายจะแข็งแรงขึ้น และน้ำหนักจะค่อย ๆ ลดลงมาเองก็พอ
ร่างกายที่แข็งแรงนั้นเป็นสิ่งเดียวที่เงินไม่สามารถซื้อได้ และร่างกายที่แข็งแรงก็ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสนุกสนานไปจนถึงตอนแก่ สำหรับ 7 เคล็ดลับสร้างแรงจูงใจให้ออกกำลังกาย ที่เราได้นำมาฝากกันในวันนี้ ก็หวังว่าจะถูกใจคุณผู้อ่านไม่มากก็น้อย ถ้าใครยังหาแรงบันดาลใจดี ๆ ไม่เจอล่ะก็ ลองนำเรื่องราวที่เราเสนอในวันนี้ไปปรับใช้กันดูนะคะ ว่าแล้วก็…วันนี้เรามาเริ่มออกกำลังกายกันดีกว่า!!